RSS

Category Archives: การเรียนรู้คอมพิวเตอร์ ม.4 บทที่1

บทที่1(1.6 ตัวอย่างอาชีพทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร )

1.6 ตัวอย่างอาชีพทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร                           

 นักเขียนโปรแกรมหรือโปรแกรมเมอร์  (programmer)  ทำหน้าที่ในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์  เพื่อใช้ในงานด้านต่าง ๆ เช่น  โปรแกรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้า  โปรแกรมที่ใช้กับงานด้านบัญชี  หรือ  โปรแกรมที่ใช้กับระบบงานขนาดใหญ่ขององค์กร

นักวิเคราะห์ระบบ  (system analyst)  ทำหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์และพัฒนาระบบสารสนเทศ  นักวิเคราะห์ระบบจะทำการวิเคราะห์ระบบงานและออกแบบระบบสารสนเทศให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน    ซึ่งอาจรวมถึงงานด้านการออกแบบฐานข้อมูลด้วย

 ผู้ดูแลและบริหารฐานข้อมูล  (database  administrator)  ทำหน้าที่บริหารและจัดการฐานข้อมูล  รวมถึงการออกแบบ  บำรุงรักษาข้อมูล  และการดูแลระบบความปลอดภัยของฐานข้อมูล  เช่น  การกำหนดบัญชีผู้ใช้การกำหนดสิทธิ์ผู้ใช้

  ผู้ดูแลและบริหารระบบ  (system  administrator)  ทำหน้าที่บริหารและจัดการระบบคอมพิวเตอร์ในองค์กร  โดยดูแลการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบปฏิบัติการ  การติดตั้งฮาร์ดแวร์  การติดตั้งและการปรับปรุงซอฟต์แวร์   สร้าง ออกแบบและบำรุงรักษาบัญชีผู้ใช้  สำหรับองค์กรขนาดเล็กเจ้าหน้าที่ควบคุมระบบอาจต้องดูแลและบริหารระบบเครือข่ายด้วย

   ผู้ดูแลและบริหารระบบเครือข่าย  (network  administrator)  ทำหน้าที่บริหารและจัดการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์  และดูแลรักษาความปลอดภัยของระบบเครือข่ายขององค์กร  เช่น  ตรวจสอบการใช้งานเครือข่ายของพนักงานและติดตั้งโปรแกรมป้องกันผู้บุกรุกเครือข่าย


               ผู้พัฒนาและบริหารระบบเว็บไซต์  (webmaster)  ทำหน้าที่ออกแบบพัฒนา  ปรับปรุงและบำรุงรักษาเว็บไซต์ให้มีความทันสมัย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันยู่เสมอ

  เจ้าหน้าที่เทคนิค  (technician)  ทำหน้าที่ซ่อมบำรุงรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์  ติดตั้งโปรแกรม  หรือติดตั้งฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ และแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดจากการใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในองค์กร

นักเขียนเกม  (game  maker)  ทำหน้าที่เขียนหรือพัฒนาโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนี้การเขียนเกมคอมพิวเตอร์  เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศไทย
แหล่งข้อมูล : หนังสืออ้างอิงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร  สสวท
https://sites.google.com/site/websidbaytik/home/bth-thi-1-thekhnoloyi-sarsnthes

 

บทที่1(1.5 ความเปลี่ยนแปลงจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร )


1.5 ความเปลี่ยนแปลงจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

     1)  ด้านสังคม  สภาพเสมือนจริง  การใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงการทำงานต่าง ๆ จนเกิดเป็นสังคมที่ติดต่อผ่านทางอินเตอร์เน็ต  หรือที่รู้จักกันว่า  ไซเบอร์สเปซ (Cyber space)   ซึ่งมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การพูดคุย การซื้อสินค้าและบริการ การทำงานผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทำให้เกิดสภาพที่เสมือนจริง  (virtual เช่น  เกมเสมือนจริง  ห้องสมุดเสมือนจริง ห้องเรียนเสมือนจริง ที่ทำงานเสมือน  ซึ่งทำให้ช่วยลดเวลาในการเดินทางและสามารถใช้งานได้ ทุกที่ทุกเวลา
การใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์  (e – Cash)  ทำให้พกเงินสดน้อยลงเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ด้วยบัตรที่มีลักษณะเป็นบัตรสมาร์ต  หรือสมาร์ตการ์ด  (smart  card)
บริการนำเสนอแบบตามคำขอหรือออนดีมานด์  (on  demand)  เป็นการเข้าถึงข้อมูลตามความต้องการ ของผู้ใช้ได้ตลอดเวลา  เช่น  การเลือกชมรายการโทรทัศน์  หรือฟังรายการวิทยุย้อนหลังได้ทางเว็บไซต์
การศึกษาออนดีมานด์  (education  on  demand)  เป็นการเปิดเว็บไซต์ของสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นลักษณะ  อีเลิร์นนิง  (e – Learning)
การได้รับเทคโนโลยีมากเกินไป  (technology  overload)  การพัฒนาของเทคโนโลยีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว  โดยมีรูปแบบที่หลากหลายทำให้น่าสนใจ  และสะดวกในการเข้าถึง



2) ด้านเศรษฐกิจ 
ทำให้เกิดสังคมโลกาภิวัฒน์ (globalization) เพราะสามารถชมข่าว  ชมรายการโทรทัศน์      ที่ส่งกระจายผ่านดาวเทียมของประเทศต่าง ๆ ได้ทั่วโลก  สามารถรับข่าวสารได้ทันที  ใช้อินเทอร์เน็ต    ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ระบบเศรษฐกิจกระจายเป็นเศรษฐกิจโลก  เกิดกระแสการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว  ระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลกเชื่อมโยงและผูกพันกันมากขึ้น

 
3) ด้านสิ่งแวดล้อม
  เช่น  ระบบป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง  โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม  หรือภาพถ่ายทางอากาศร่วมกับการจัดเก็บรักษาข้อมูลระดับน้ำทะเล  ความสูงของคลื่นจากระบบเรดาร์  เป็นการศึกษาเพื่อหาสาเหตุและนำข้อมูลมาวางแผนและสร้างระบบเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแต่ละแห่งได้อย่างเหมาะสม


นอกจากนี้ในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบผสม  (hybrid  engine)  เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมต้องใช้เทคโนโลยี   เพื่อควบคุมให้เครื่องยนต์ลดการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง  เป็นการช่วยลดมลภาวะโลกร้อนก๊าซไนโตรเจนออกไซด์  ไฮโดรคาร์บอน  และก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์

แหล่งข้อมูล : หนังสืออ้างอิงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร  สสวท
https://sites.google.com/site/websidbaytik/home/bth-thi-1-thekhnoloyi-sarsnthes

 

บทที่1(1.4 แนวโน้มการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร )

1.4  แนวโน้มการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

 

1.4.1  ด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  มนุษย์ใช้อุปกรณ์การสื่อสารแบบพกพามากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจากวิทยุเรียกตัว  (pager)   เป็นเครื่องรับข้อความ  มาเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่  อุปกรณ์สื่อสารชนิดนี้          ได้ถูกพัฒนาจนสามารถใช้งานด้านอื่น ๆ ได้  นอกจากการพูดคุยธรรมดา  โทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่สามารถใช้ถ่ายรูป  ฟังเพลง  ฟังวิทยุ  ดูโทรทัศน์  บันทึกข้อมูลสั้น ๆ บางรุ่นมีลักษณะเป็นเครื่องช่วยงานส่วนบุคคล (Personal Digital  Assistant : PDA)  สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้  ระบบหน้าจอแบบสัมผัส  บางรุ่นมีอุปกรณ์สไตลัส  (stylus)  คือ ใช้ปากกาป้อนข้อมูลทางหน้าจอ  บางรุ่นสามารถสั่งการได้ด้วยเสียง  ตัวอย่างอุปกรณ์สื่อสารและสารสนเทศ     แบบพกพาวิทยุเรียกตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่  เครื่องช่วยงานส่วนบุคคล  (PDA)  เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในอนาคตมีแนวโน้มเป็นดังนี้  คือ  มีขนาดเล็กลง  พกพาได้ง่าย  แต่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น  เช่น  เก็บข้อมูลได้มากขึ้น  ประมวลผลได้เร็วขึ้น  ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น  โดยมีการผนวกอุปกรณ์หลาย ๆ อย่างไว้ในเครื่องเดียว (all – in – one)

 

  1.4.2 ด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์  ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในอดีตมักเป็นระบบที่ใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อตรงเพียงชุดเดียว  (Stand  alone)  ต่อมามีการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันภายในองค์กร   เพื่อทำให้สามารถใช้ข้อมูลร่วมกัน  หรือใช้เครื่องพิมพ์ร่วมกัน  จนเกิดเป็นระบบรับและให้บริการ  หรือที่เรียกว่าระบบรับ – ให้บริการ  (client – server  system)  โดยมีเครื่องให้บริการ  (server)  และเครื่องรับบริการ  (client)เมื่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นไปอย่างแพร่หลาย  การพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อให้ผู้ใช้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้โดยตรง  โดยที่เครื่องให้บริการมีหน้าที่เพียงแค่เก็บตำแหน่งของเครื่องผู้ใช้งานที่มีข้อมูลนั้น ๆ อยู่เพื่อให้เครื่องอื่นสามารถทราบที่อยู่ที่มีข้อมูลดังกล่าว  และเข้าถึงข้อมูลนั้นได้  เรียกระบบแบบนี้ว่าเครือข่ายระดับเดียวกัน  (Peer – to –Peer  network : P2P)
ปัจจุบันมีการใช้แลนไร้สาย  (wireless  LAN)  ในสถาบันการศึกษา  และองค์กรหลายแห่งการให้บริการแลน ไร้สาย  หรือไวไฟ  (Wi – Fi)  ตามห้างสรรพสินค้า  ร้านขายเครื่องดื่ม  หรือห้องรับรองของโรงแรมใหญ่ ๆ นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีในการติดตามตำแหน่งรถด้วยจีพีเอส  (Global  Positioning  System  : GPS)  กับรถแท็กซี่

 

1.4.3 ด้านเทคโนโลยี  ระบบทำงานอัตโนมัติที่สามารถตัดสินใจได้เองจะเข้ามาแทนที่มากขึ้น  เช่น  ระบบแนะนำเส้นทางจราจร  ระบบจอดรถ  ระบบตรวจหาตำแหน่งของวัตถุ  ระบบควบคุมความปลอดภัยภายในอาคาร  ระบบที่ทำงานอัตโนมัติเช่นนี้  อาจกลายเป็นระบบหลักในการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ
พีเอ็นดี  (Personal  Navigation  Device  : PND)  เป็นอุปกรณ์เพื่อช่วยในการนำทาง  เสมือนผู้นำทาง บนท้องถนนเพื่อให้เกิดความคล่องตัว  ค้นหาเส้นทางไปยังจุดหมายได้อย่างถูกต้อง  และรวดเร็ว
เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี  (Radio  Frequency  Identification : RFID)  ใช้คลื่นวิทยุเพื่อระบุเอกลักษณ์ของวัตถุ  ประกอบด้วยอุปกรณ์หลักสองส่วน  คือ  ป้ายระบุอิเล็กทรอนิกส์  (electronics  tag)  และเครื่องอ่าน  (reader)

แหล่งข้อมูล : หนังสืออ้างอิงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร  สสวท
https://sites.google.com/site/websidbaytik/home/bth-thi-1-thekhnoloyi-sarsnthes

 

 

บทที่1(1.3 ประโยชน์และตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร )

1.3 ประโยชน์และตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1.3.1 ด้านการศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารถูกนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารด้านการศึกษา เช่น ระบบการลงทะเบียน และระบบการจดตารางสอน ตัวอย่างเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในด้านการศึกษา
1) การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
2) บทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ยังช่วยเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนในวิชาต่าง ๆ


1.3.2 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารถูกนำมาใช้ตั้งแต่การทำทะเบียนคนไข้ การรักษาพยาบาลทั่วไป ตลอดจนการวินิจฉัยและรักษาโรคต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ สามารถค้นคว้าข้อมูลทางการแพทย์ รักษาคนไข้ด้วยระบบการรักษาทางไกลตลอดเวลาผ่านเครือข่ายการสื่อสาร เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า อีเอ็มไอสแกนเนอร์ (EMI scanner) ถูกนำมาใช้ถ่ายภาพสมองมนุษย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติในสมอง ต่อมาได้พัฒนาให้ถ่ายภาพหน้าตัดได้ทั่วร่างกาย เรียกชื่อว่า ซีเอที (CAT – Computerized Axial Tomography scanner : CAT scanner) ใช้วิธีฉายแสงเป็นจังหวะไปรอบ ๆ ร่างกายมนุษย์


 1.3.3 ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านเกษตร เช่น การจัดระบบข้อมูลเพื่อการเกษตรและพยากรณ์ผลผลิตด้านการเกษตร การประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อใช้ทำงานบ้าน และหุ่นยนต์เพื่องานอุตสาหกรรมที่ต้องเสี่ยงภัยและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

1.3.4 ด้านการเงินการธนาคาร ใช้ช่วยงานด้านบัญชี หารฝากถอนเงิน โอนเงิน บริการสินเชื่อ และเปลี่ยนเงินตรา บริการข่าวสารการธนาคาร การใช้คอมพิวเตอร์ด้านการเงินการธนาคารที่รู้จักและนิยมใช้กันทั่วไป เช่น การฝากถอนเงิน การโอนเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์

1.3.5 ด้านความมั่นคง ใช้ในการควบคุมประสานงานวงจรสื่อสารทหาร การแปลรหัสลับในหน่วยงาน จารกรรมระหว่างประเทศ การส่งดาวเทียมและการคำนวณวิถีการโคจรของจรวดไปสู่อวกาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศไทยมีศูนย์ประมวลข่าวสาร มีระบบจัดทำทะเบียนปืน ทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการสืบค้นข้อมูลเพื่อการสืบสวนคดีต่าง ๆ

1.3.6 ด้านการคมนาคม การเดินทางโดยรถไฟ มีการเชื่อมโยงข้อมูลการจองที่นั่งไปยังทุกสถานี ทำให้สะดวกต่อผู้โดยสาร การเช็คอินของสายการบิน ได้จัดทำเครื่องมือที่สะดวกต่อลุกค้า ในรูปแบบของการ เช็คอินด้วยตนเอง

  1.3.7 ด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในด้านการออกแบบ หรือจำลองสภาวการณ์ต่าง ๆ เช่น การรับแรงสั่นสะเทือนของอาคารเมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยการคำนวณและแสดงภาพสถานการณ์ใกล้เคียงความจริง ตัวอย่างซอฟต์แวร์คำนวณการเกิดแผ่นดินไหว

 1.3.8 ด้านการพาณิชย์ ใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการ เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับองค์กร ในการทำงาน ทำให้ประสานงานหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงานในองค์กร หรือระหว่างองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมาใช้ด้านการพาณิชย์ เช่น การให้บริการชำระค่าสินค้าผ่านจุดชำระค่าบริการ การสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต และการตรวจสอบราคาสินค้าผ่านเครื่องอ่านราคาสินค้า

แหล่งข้อมูล : หนังสืออ้างอิงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร  สสวท
https://sites.google.com/site/websidbaytik/home/bth-thi-1-thekhnoloyi-sarsnthes

 

บทที่ 1(1.1ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร)

1.1 ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร

ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก  เช่น  มีการใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน   ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการสืบค้นข้อมูล  หรือรับ – ส่งข้อมูลระหว่างกัน  ตลอดจนการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่  (mobile  phone)  หรือโทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสารองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในองค์กรเช่น  งานด้านการบริหาร   การจัดการ  และการปฏิบัติการ  รัฐบาลประกาศให้ปี พ.ศ. 2538  เป็นปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศไทย  มีการลงทุนเกี่ยวกับโครงการพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน  มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารต่าง ๆ มากมาย เช่น

1. การเรียนทางไกลผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์
2. การสั่งซื้อสินค้าและชำระเงินด้วยบัตรเครดิตผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์
3. การเบิกเงินด้วยบัตรเอทีเอ็มจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารต่าง ๆ
4. การส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์  หรืออีเมล์  ซึ่งเป็นการส่งข้อความถึงกันผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ผู้รับสามารถเปิดคอมพิวเตอร์เพื่ออ่านจดหมายหรือข้อความต่าง ๆ และสามารถโต้ตอบกลับได้ทันที

คำว่า  เทคโนโลยีสารสนเทศ  (Information  Technology : IT)  เรียกย่อว่า  “ไอที”  ประกอบด้วยคำว่า  “เทคโนโลยี”  และคำว่า  “สารสนเทศ”  นำมารวมกันเป็น  “เทคโนโลยีสารสนเทศ”  และคำว่า  เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร  (Information  and  Communication  Technology : ICT)  หรือเรียกย่อว่า  “ไอซีที”
 เทคโนโลยี  (Technology)  หมายถึง  การนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ในการพัฒนาเครื่องมือ  เครื่องใช้  อุปกรณ์  วิธีการหรือกระบวนการ  เพื่อช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่าง  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์             ต่อบุคคล  กลุ่มบุคคล  หรือองค์กร

สารสนเทศ  (Information)  หมายถึง  ผลลัพธ์ที่เกิดจากการนำข้อมูลมาผ่านกระบวนการต่าง ๆ อย่างมีระบบ  จนได้สิ่งที่เป็นประโยชน์  มีคุณค่าและสาระ  หรือมีเนื้อหาและรูปแบบที่เหมาะสมตามความต้องการของผู้ใช้

เทคโนโลยีสารสนเทศ  หมายถึง  การนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างหรือ  จัดการกับสารสนเทศอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว  โดยอาศัยเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคคล  กลุ่มบุคคล  หรือองค์กร  ทั้งนี้เทคโนโลยีสารสนเทศยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม  ซึ่งเป็นวิธีการส่งข้อมูลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง  เพื่อแลกเปลี่ยนหรือเผยแพร่ข้อมูลและสารสนเทศได้อย่างรวดเร็วการใช้ประโยชน์ผ่านอุปกรณ์  เช่น วิทยุ โทรศัพท์ เครื่องโทรสาร คอมพิวเตอร์ คลื่นวิทยุ และดาวเทียม
      เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร  หมายถึง  เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูล  และการสื่อสารนับตั้งแต่การสร้าง  การนำมาวิเคราะห์หรือการประมวลผล  การรับและการส่งข้อมูล  การจัดเก็บ  และการนำข้อมูลกลับไปใช้งานใหม่


แหล่งข้อมูล : หนังสืออ้างอิงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร  สสวท
https://sites.google.com/site/websidbaytik/home/bth-thi-1-thekhnoloyi-sarsnthes

 

วัตถุประสงค์ บทที่ 1 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


วัตถุประสงค์

1.อธิบายความหมายของเทสโนโลยีสารสนเทสและการสื่อสาร

2.อธิบายองค์ประกอบของระบบสารสนเทศ

3.ยกตัวอย่างเทสโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

4.อธิบายประโยชน์ของเทสโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

5.อธิบายแนวโน้มการใช้งานเทสโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

6.ใช้งานเทสโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างเหมาะสม